ขากระตุกขณะหลับ ทำให้คุณภาพการนอนลดลง ทำให้หลับไม่สนิท อาจรู้สึกง่วงได้ในตอนกลางวัน ซึ่งปัญหานี้พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่ส่วนมากพบในผู้สูงอายุตั้งแต่ 50-65 ปี และอาจพบในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์
อาการขากระตุกขณะหลับ
- ขา เข่า หรือ สะโพก กระตุก หรืออาจเกิดขึ้นกับอวัยวะอื่น ๆ ได้
- อาการกระตุกจะเกิดเป็นจังหวะ โดยทั่วไปอาจเกิดทุก 20-40 วินาที
- ทำให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง
อาการขากระตุกไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจมีความเกี่ยวข้องกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โรคไต โรคกล้ามเนื้อผิดปกติ หรือการขาดสารอาหารบางชนิด โรคอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ โดยการวินิจฉัยโรคนี้ต้องใช้การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) ซึ่งการรักษาภาวะขากระตุกขณะหลับ จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และทานยาที่เหมาะสม
วิธีลดอาการขากระตุกขณะนอนหลับ
จำเป็นต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ร่างกายและเส้นประสาทได้พักฟื้น พยายามไม่เครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หรือออกกำลังกาย จำกัดปริมาณคาเฟอีนจากเครื่องดื่มหรืออาหารที่รับประทานเข้าไปให้อยู่ในระดับที่พอดีต่อวัน เพราะคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้เกิดอาการกล้ามเนื้อกระตุกได้
10 วิธี “นอนหลับ” สนิทมากขึ้น
- ปรับเวลาการนอนใหม่ ต้องเข้านอนและตื่นนอนให้ตรงเวลาเป็นประจำทุกวัน
- ตื่นเช้าเพื่อรับแสงแดดยามเช้าอย่างน้อย 30 นาที
- ไม่นอนในเวลากลางวัน ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ควรเกิน 30 นาที
- ออกกําลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน 2 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และอาหารมื้อดึก อย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อนนอน
- งดดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ อย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนนอน
- นอนเตียงนอนที่สบาย อากาศถ่ายเท ไม่มีแสงเล็ดลอด และเสียงรบกวน
- ผ่อนคลาย เพื่อลดความวิตกกังวล เช่น การนั่งสมาธิ
- ใช้ห้องนอนเพื่อนอนเท่านั้น ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือกินอาหารบนเตียงนอน
- หากนอนไม่หลับภายใน 30 นาที ควรลุกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ แล้วกลับมานอนใหม่อีกครั้งเมื่อง่วง
นอกจากนี้ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน จะช่วยลดอาการขากระตุก และทำให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญต้องลดความเครียดสะสม หากิจกรรมผ่อนคลายด้วย
สนใจรับเคล็ดลับลดน้ำหนัก เพิ่มกล้าม ได้ที่
Facebook : WheyMagneto
Instagram : WheyMagneto